วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา

flbar14

makhabuchaday

วันมาฆบูชา

          วันมาฆบูชา (ภาษาบาลี มาฆปูชา) (ภาษาอังกฤษ Magha Puja) เป็นวันสำคัญวันหนึ่งในทางพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท มาจากคำว่า มาฆปูรณมีบูชา หมายถึงการบูชาในวันเพ็ญกลางเดือนมาฆะของอินเดีย และจะตรงกับวับวันเพ็ญเดือน ๓ ตามจันทรคติของไทย จะตกอยู่ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถ้าปีใดมีอธิกามาสคือมี ๘ สองคน จะเลือนไปทำในวันเพ็ญเดือน ๓ หนหลัง(เพ็ญเดือน ๔)

          วันมาฆบูชาเป็นวันสำคัญคือคล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์ในท่ามกลางพระอรหันต์ ๑,๒๕๐ องค์ณ พระเวฬุวันมหาวิหาร เมืองราชคฤห์ รัฐพิหาร อินเดียในปัจจุบัน การประชุมครั้งนั้นเรียกว่า "จาตุรงคสันนิบาติ" อันประกอบด้วยองค์ ๔ กล่าวคือ

          ๑. วันนั้นเป็นวันเพ็ญ เดือน ๓

           ๒. พระสงฆ์ ๑.๒๕๐ องค์มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย

          ๓. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นพระอรหันต์

          ๔. พระสงฆ์เหล่านั้นล้วนเป็นเอหิภิกขุอุปสัมปทาคือได้รับการอุปสมบทจากพระพุทธเจ้าเองทั้งหมด

การประชุมครั้งนั้นเกิดขึ้นหลังจากพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้แล้วเป็นเวลา ๙ เดือน

          พระพุทธเจ้าทรงทอดพระเนตรเห็นมหาสังฆนิบาต (การประชุมของพระสงฆ์ครั้งใหญ่) อันประกอบด้วยเหตุอัศจรรย์ดังกล่าว จึงทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์คือหลักคำสอนสำคัญหรือหัวใจของพระพุทธศาสนาในมหาสังฆนิบาตนั้น พร้อมตรัสพระคาถา ๓ คาถากึ่งว่า

                     ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกขา                    ขันติคือความอดทนเป็นตบะอย่างยิ่ง

                     นิพฺพานํ  ปรมํ  วทนฺติ  พุทฺธา             ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าวพระนิพพานว่ายอดเยี่ยม

                     น หิ ปพฺพชิโต  ปรูปฆาตี                  ผู้ทำร้ายผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นบรรพขิต

                     สมโณ  โหติ  วิเหฐยนฺโต                   ผู้เบียดเบียนผู้อื่นไม่ชื่อว่าเป็นสมณะ

                     สพฺพปาปสฺส  อกรณํ                       การไม่ทำบาปทั้งปวง

                     กุสลฺสูปสมฺปทา                              การทำแต่ความดี

                     สจิตฺตปริโยทปนํ                            การทำจิตของตนให้ผ่องใส

                    เอตํ  พุทฺธานสาสนํ                        นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

                    อนูปวาโท  อนูปฆาโต                    การไม่กล่าวร้ายและการไม่ทำร้าย

                    ปาติโมกฺเข จ สํวโร                        การสำรวมในพระปาฏิโมกข์

                    มตฺตญฺญุตา จ  ภตฺตสฺมึ                 ความเป็นรู้ประมาณในอาหาร

                   ปนฺตญฺจ  สยนาสนํ                       ที่นอนที่นั่งอันสงัด

                   อธิจิตฺเต จ  อาโยโค                       การประกอบความเพียรทางจิต

                   เอตํ  พุทฺธานสาสนํ                        นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย

จากพระคาถา ๓ คาถากึ่งนี้ อาจสรุปได้เป็น ๓ ส่วน คือ หลักการ ๓ อุดมการณ์ ๔ และวิธีการ ๖ สำหรับเป็นแนวทางในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา

         คาถาแรกทรงกล่าวถึงอุดมการณ์อันสูงสุดของบรรพชิตในพระพุทธศาสนาที่มีลักษณะแตกต่างจากศาสนาอื่น อุดมการณ์ ๔ ประการ คือ บรรพชิตในพระพุทธศาสนาจะต้องมีความอดทนอดกลั้น มุ่งปฏิบัติเพื่อความหลุดพ้นอันเป็นเป้าหมายสูงสุด ไม่พึงเบียดเบียนผู้อื่นหรือทำร้ายผู้อื่น พึงเป็นผู้มีจิตใจสงบจากอุกศลวิตกทั้งปวง

        คาถาที่สองทรงกล่าวถึงหลักการอันเป็นหัวใจหรือหลักคำสอนในทางพระพุทธศาสนา เป็นการสรุปคำสอนในทางพระพุทธศาสนาลง ๓ ประการ คือ การไม่ทำบาป ทำแต่ความดี และการทำใจให้บริสุทธิ์

        คาถาที่สามทรงแสดงวิธีการที่พระธรรมทูตผู้เผยแผ่พระพุทธศาสนาจะต้องใข้วิธีการเดียวกันเหมือนกันกันหมดเพื่อจะได้เป็นไปในแนวทางเดียวกันในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา คือ การไม่กล่าวร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่กล่าวร้ายโจมตีศาสนาอื่น) การไม่ทำร้าย (เผยแผ่ศาสนาด้วยการไม่ใช้กำลังบังคับขี่เข็ญให้เชือถือ) สำรวมระวังในสิกขาบททั้งหลาย (ประพฤติให้น่าเลื่อมใส) รู้จักประมาณในการบริโภค (ใช้สอยปัจจัยสี่พอประมาณ) ที่นอนที่นั่งสงัด (ไม่คลุกคลีกับหมู่คณะ) ประกอบความเพียร (พัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น)

          นอกจากนี้  วันมาฆบูชายังมีความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ คล้ายกับวันที่พระพุทธเจ้าทรงปลงอายุสังขาร กล่าวคือในวันเพ็ญเดือน ๓ พรรษาสุดท้าย (คราวที่ทรงพระชนมายุ ๘๐ พรรษา) ณ ปาลาวเจดีย์ ทรงปลงอายุสังขารว่า อีก ๓ เดือนจากนี้ไปพระองค์จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน

         กิจกรรมในวันมาฆบูชาก็คือ การประกอบพิธีทางพระพุทธศาสนา โดยทั่วไปนิยมทำบุญ ตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่างๆ  เพื่อเป็นการระลึกถึงวันสำคัญที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนา

visakhaday

วันวิสาขบูชา

วันวิสาขบูชา (ภาษาบาลี วิสาขปูชา) (ภาษาอังกฤษ Vesak) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาทุกนิกายทั่วโลก และเป็นวันสำคัญในระดับนานาชาติด้วย ตามมติขององค์การสหประชาชาติ เพราะเป็นวันคล้ายกับวันที่เกิดเหตุการ์ที่สำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา ๓ เหตุการณ์ด้วยกันคือ วันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยเหตุการณ์ทั้ง ๓ เหตุการณ์นั้นได้เกิดขึ้นในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่า เดือน วิสาขะ หรือเดือน ๖ (แต่ต่างปีกัน) ชาวพุทธทั่วโลกถือว่าเป็นวันที่เกิดอัศจรรย์ยิ่ง และเรียกการบูชาในวันนี้ว่า วันวิสาขบูชา มาจากคำว่า วิสาขปูรณมี แปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือนวิสาจะตามปฏิทินอินเดียซึ่งจะตรงกับวันเพ็ญเดือน ๖ ตามจันทรคติของไทยจะตกในช่วงเดือนพฤษภาคม ถ้าปีใดมีอธิกามา ๘ สองหน ก็จะเลื่อนไปวันเพ็ญเดือน ๗ แต่ประเทศอื่นที่ไม่ได้ใช้ปฏิทินจันทรคติบแบไทยก็จะจัดวันวิสาขบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖

          วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ระลึกถึงวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งตรงกับวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนวิสาขะ (เดือน ๖) ตรงกันทั้ง ๓ เหตุการณ์ คือ

          เช้าวันศุกร์ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปี ก่อนพุทธศักราช ๘๐ ปี เจ้าชายสิทธัตถะ ประสูติที่พระราชอุทยานลุมพินีวันระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์กับเทวทหะ ปัจจุบันอยู่ที ตำบลรุมมินเด ประเทศเนปาล

          เช้ามืดวันพุธ ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๖ ปีระกา ก่อนพุทธศักราช ๔๕ ปี เจ้าชายสิทธัตถะได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เมื่อพระชนมายุ ๓๕ พรรษา ณ ใต้ร่มไม้ศรีมหาโพธิ์ ริมฝั่งแม่น้ำเนรัญชรา ตำบลอุระเวลาเสนานิคม หลังจากออกผนวชได้ ๖ ปี ปัจจุบันสถานที่แห่งนี้เรียกว่า พุทธคยา เมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย

          หลังจากตรัสรู้แล้ว พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ออกประกาศพระศาสนาและโปรดเวไนยสัตว์เป็นเวลา ๔๕ ปี เมื่อพระชนมายุได้ ๘๐ พรรษา ก็เสด็จดับขันธปรินิพพาน เมื่อวันอังคาร ขึ้น ๑๕ เดือน ๖ ปีมะเส็ง ณ สาลวโนทยาน ของมัลลกษัตริย์ เมืองกุสินารา ปัจจุบันอยู่ในเมืองกุสีนคร รัฐอุตตรประเทศ อินเดีย

          วิสาขบูชา มีการนับถือปฏิบัติกันในหลายประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนาทั้งมหายานและเถรวาททุกนิกายมาช้านานแล้ว ในบางประเทศเรียกพิธีนี้ว่า "พุทธชยันตี" (Buddhha Jayanti) และหลายประเทศให้ถือวันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดทางราชการ นอกจากนี้ วันวิสาขบูชา ถือได้ว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาสากล เพราะชาวพุทธทุกนิกายจะพร้อมใจกันจัดพิธีพุทธบูชาในวันนี้พร้อมกันทั่วโลก และด้วยเหตุนี้ ในที่ประชุมใหญ่สมัชชาสหประชาชาติจึงยกย่องให้วันวิสาขบูชาเป็น "วันสำคัญสากล" (International Day) ตามมติประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติที่ 54/112 ลงวันที่ ๑๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๔๒

          ปัจจุบัน ประเทศไทยได้ประกาศให้วันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดราชการ โดยพุทธศาสนิกชนทั้งพระบรมวงศานุวงศ์ พระสงฆ์ และประชาชน จะมีการประกอบพิธีต่างๆ เช่น การทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบพระอุโบสถหรือสถูปเจดีย์ เพื่อเป็นการบูชารำลึกถึงพระรัตนตรัยและเหตุการณ์สำคัญ ๓ คือ คล้ายกับวันประสูติ ตรัสรู้ และเสด็จดับขันธปรินิพพานขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงประกอบด้วย พระปัญญาคุณ พระบริสุทธิคุณ และพระมหากรุณาธิคุณ เหตุการณ์ทั้ง ๓ นี้ได้เกิดขึ้นในวันเพ็ญเดือน ๖

asanhabuchaday

 วันอาสาฬหบูชา

           วันอาสาฬหบูชา (ภาษาบาลี อาสาฬหปูชา) .(ภาษาอังกฤษ Asalha Puja) เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนานิกายฝ่ายเถรวาท คำว่า อาสาฬหบูชา ย่อมาจาก อาสาหฬปูรณมีบูชา แปลว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือนอาสาฬหะ อันเป็นเดือนของอินเดีย ซึ่งตรงกับวันเพ็ญเดือน ๘ ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ซึ่งมักจะตรงกับเดือนกรกฎาคม แต่ถ้าปีใดมีอธิกมาสคือ ๘ สองหน ก็จะเลื่อนไปทำกันในเดือนเพ็ญเดือน ๘ หลังแทน

             วันอาสาฬหบูชาได้รับการยกย่องว่าเป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เนื่องจากเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นเมื่อก่อน ๔๕ ปีก่อนพุทธศักราช ในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘  คือ ณ ป่าอิสิปตนมคฤทายวัน เมืองพาราณสี แคว้นกาสี ปัจจุบันอยู่ในรัฐอุตตรประเทศ อินเดีย อันเป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา พระเทศนากัณฑ์แรกทีมีชื่อว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตรแก่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ คือโกณฑัญญะ วัปปะ ภัททิยะ มหานามะ และอัสสชิ

           การแสดงปฐมเทศนาในครั้งนั้นทำให้พราหมณ์โกณฑัญญญะ ๑ในปัญจวัคคีย์ ได้เกิดดวงตาเห็นธรรมในพระธรรมเทศนาบรรลุเป็นพระอริยบุคคลโสดาบัน และได้ทูลขออุปสมบทในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า และพระองค์ทรงประทานการอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทา พระอัญญาโกณฑัญญะจึงได้เป็นพระสาวกและภิกษุองค์แรกในโลก และทำให้วันนั้นมีพระรัตนตรัยครบทั้งสามองค์บริบูรณ์เป็นครั้งแรกในโลก คือมีทั้งพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ด้วยเหตุนี้จึงทำให้วันนี้ถูกเรียกว่า "วันพระธรรม" หรือวันพระธรรมจักรอันได้แก่วันที่ล้อแห่งพระธรรมของพระพุทธเจ้าได้หมุนไปเป็นครั้งแรก และ "วันพระสงฆ์" คือวันที่มีพระสงฆ์เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกอีกด้วย

          ดังนั้น วันอาสาฬหบูชาจึงถูกจัดขึ้นเพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายที่เกิดเหตุการณ์สำคัญของพระพุทธศาสนาดังกล่าว  ซึ่งสรุปเหตุการณ์สำคัญที่เกิดขึ้นในวันอาสาฬหบูชาได้โดยย่อ ดังนี้

                        ๑. เป็นวันที่พระพุทธเจ้าทรงประกาศพระพุทธศาสนา

                        ๒. เป็นวันแรกที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนาธัมมจักกัปปวัตนสูตร

                        ๓. เป็นวันที่พระอริยสงฆ์สาวกองค์แรกเกิดขึ้นในโลก

                        ๔. เป็นวันที่บังเกิดขึ้นแห่งสังฆรัตนะ ทำให้พระรัตนตรัยทั้งสามครบบริบูรณ์ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์

          หลักธรรมสำคัญในวันอาสาฬหบูชา เนื่องด้วยวันอาสาฬหบูชามีความเกี่ยวข้องกับปฐมเทศนาที่ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตนสูตรซึ่งเป็นสูตรแรกที่พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงแก่ปัญจวัคคีย์ทั้งห้าในวันอาสาฬหบูชา หลักธรรมในพระสูตรนี้เป็นธรรมะที่สำคัญที่พุทธศาสนิกชนจะได้นำไปพิจารณาและทำความเข้าใจคือ

                   สิ่งที่ไม่ควรเข้าไปเกี่ยวข้องหรือเสพสองอย่าง

                   พระพุทธเจ้าทรงแสดงที่สุดสองอย่างที่บรรพชิตผู้หวังความหลุดพ้นจากวัฏฏะไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวข้องหรือเสพ คือ กามสุขัลลิกานุโยค ได้แก่การปฏิบัติตนย่อหย่อนเกินไปหรือยินในกามสุข และอัตตกิลมถานุโยค  การประพฤติปฏิบัติตนทรมานกายเกินไป ที่เป็นลัทธิความเชื่อของคนในสมัยนั้นว่าสามารถนำไปสู่ความหลุดพ้นได้ เพราะเหตุที่พระองค์ทรงปฏิเสธที่สุดสองอย่างนั้นเพราะพระองค์ได้ทดลองปฏิบัติมาแล้ว

                   มัชฌิมาปฏิปทา (ทางสายกลาง) หรือมรรคมีองค์ ๘ ทางปฏิบัติที่จะนำไปสู่ความหลุดพ้นได้

                   ๑. สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ   ๒. สัมมาสังกัปปะ  ความดำริชอบ   ๓. สัมมาวาจา  เจรจาชอบ   ๔. สัมมากัมมันตะ  การงานชอบ   ๕. สัมมาอาชีวะ  เลี้ยงชีพขอบ   ๖. สัมมาวายามะ พยายามชอบ  ๗. สัมมาสติ  ระลึกชอบ   ๘. สัมมาสมาธิ  ตั้งใจชอบ

                    อริยสัจ ๔  ความจริง ๔ ประการคือ

                   ๑. ทุกข์ ได้แก่ ความไม่สบายกาย ไม่สบายใจ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ความพลัดพรากจากสิ่งที่รัก หรือการพบกับสิ่งที่ไม่ชอบ ไม่พอใจ เป็นทุกข์

                   ๒. สมุทัย เหตุให้ทุกข์เกิด ได้แก่ตัณหา ความทะยานอยากทั้ง ๓ คือ กามตัณหา ภวตัณหา และวิภวตัณหา

                   ๓. นิโรธ  ความดับทุกข์ ดับตัณหาทั้งหมดนั้นได้

                   ๔. มรรค ข้อปฏิบัติหรือทางดำเนินให้ถึงการดับทุกข์ ต้องปฏิบัติหรือดำเนินในมรรค ๘ ประการ

                   การประกอบพิธีเนื่องในวันอาสาฬหบูชาของประชาชนทั่วไปนิยมทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา เวียนเทียนรอบอุโบสถหรือสถูปเจดีย์พุทธสถานต่างๆ เพื่อเป็นการระลึกถึงวันคล้ายกับวันที่เกิดเหตุการณ์สำคัญทางพระพุทธศาสนาในวันเพ็ญขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๘

วันเข้าพรรษา

                   วันเข้าพรรษา (ภาษาบาลี วสฺส) (ภาษาอังกฤษ Vassa) เป็นวันสำคัญในพุทธศาสนาวันหนึ่งที่พระสงฆ์เถรวาทจะอธิษฐานเข้าจำพรรษา พักประจำอยู่ ณ ที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดระยะเวลาฤดูฝนที่มีกำหนดว่า ๓ เดือน ตามพระวินัยที่พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติไว้เป็นธรรมเนียมสำหรับพระภิกษุสงฆ์ โดยไม่ไปค้างแรมที่อื่น หรือที่เรียกกันว่า จำพรรษา พิธีเข้าพรรษาเป็นข้อปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์โดยตรง การเข้าพรรษาเริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (ในปีที่มีอธิกมาส ๘ สองคน ก็จะเลื่อนไปเข้าจำพรรษาในเดือน ๘ หนหลัง)

                   สาเหตุที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติให้พระภิกษุจำพรรษา ณ สถานที่แห่งใดแห่งหนึ่งตลอดระยะฤดูฝน ๓ เดือนนั้น เพื่อให้พระสงฆ์ได้หยุดพักภารกิจการจาริกเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปตามสถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นความยากลำบากในฤดูฝน และเพื่อป้องกันความเสียหายจากการอาจเหยียบย่ำธัญพีชของชาวบ้านที่ปลูกกันในฤดูฝน พระสงฆ์จะได้มีเวลาศึกษาพระธรรมวินัยกับพระสงฆ์ที่ทรงความรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์สร้างความสามัคคีในหมู่คณะสงฆ์อีกด้วย

                     ในวันเข้าพรรษาและช่วงฤดูจำพรรษาตลอดทั้ง ๓ เดือน พุทธศาสนิกชนชาวไทยถือเป็นโอกาสอันดีที่จะบำเพ็ญกุศลด้วยการเข้าวัดทำบุญใส่บาตร รักษาศีล ฟังพระธรรมเทศนา และในวันเข้าพรรษามีประเพณีการถวายผ้าอาบน้ำฝนและเทียนพรรษาแด่พระสงฆ์ สำหรับใช้สอยในการจำพรรษาอีกด้วย ที่ถวายเทียนพรรษาก็เนื่องจากในสมัยก่อน วัดวาอารามต่างๆ ยังไม่มีไฟฟ้าใช้ ในการปฏิบัติศาสนกิจช่วงกลางคืนจำเป็นจะต้องมีไฟ ก็ได้อาศัยการจุดเทียนให้แสงสว่าง และอีกอย่างหนึ่งในช่วงเข้าพรรษา ชายไทยที่เป็นพุทธศาสนิกชน เมื่อมีอายุครบ ๒๐ ปีแล้ว จะนิยมอุปสมบทเป็นพระสงฆ์เพื่ออยู่จำพรรษาตลอดระยะ ๓ เดือน และจะได้ศึกษาหลักธรรมคำสั่งสอนในทางพระพุทธศาสนาในขณะบวชจำพรรษานั้น และจะได้นำมาประพฤติปฏิบัติหลังจากที่ลาสิกขามาแล้ว

                      การเข้าพรรษาตามพระวินัยมี ๒ ประเภทคือ

                     ๑. ปุริมพรรษา คือการเข้าพรรษาแรก เริ่มตั้งแต่วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (ในปีที่มีอธิกมาส ๘ สองหน จะเริ่มในวันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๘ หลัง จนถึงวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ หลัง)

                    ๒. ปัจฉิมพรรษา คือการเข้าพรรษาหลัง สำหรับพระภิกษุที่ต้องเดินทางไกลหรือมีเหตุสุดวิสัยที่ทำให้ไม่สามารถกลับมาเข้าพรรษาแรกได้ทัน ต้องไปเข้าพรรษาหลังคือ วันแรม ๑ ค่ำ เดือน ๙ แล้วจะไปออกพรรษาในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๒

                      หลังจากที่พระภิกษุสงฆ์อธิษฐานจำพรรษา ณ ที่ใดที่หนึ่งตลอดฤดู ๓ เดือน ทรงห้ามไปค้างแรมคืนที่อื่น  แต่พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้ไปค้างแรมคืนที่อื่นได้ด้วยมีเหตุจำเป็น แต่จะต้องกลับมาภายในระยะเวลา ๗ วัน พรรษาไม่ขาด เรียกว่า สัตตาหะกรณียะ  เหตุที่ทรงอนุญาตให้ไปด้วยสัตตาหะกรณียะ คือ

                      ๑. ไปเเพื่อรักษาพยาบาลภิกษุเจ็บไข้

                      ๒. ไปเพื่อระงับกิกษุสามเณรที่กระสันจะลาสิกขา

                      ๓. ไปเพื่อกิจธุระของสงฆ์ วิหารหรือกุฎีเกิดชำรุดไปเพื่อหาอุปกรณ์มาซ่อมแซม

                      ๔. ทายกทายิกานิมนต์ไปในงานทำบุญ หรือไปงานอื่นที่เป็นกิจลักษณะก็ได้

                    เมื่อถึงวันเข้าพรรษา พุทธศาสนิกชนนิยมไปทำบุญตักบาตร ฟังพระธรรมเทศนา ถวายผ้าอาบน้ำฝน ถวายเทียนพรรษา และในช่วงระยะเข้าพรรษา ๓ เดือน บางคนก็อาจจะอธิษฐานงดเว้นอบายมุขต่าง เป็นกรณีพิเศษ เช่น งดดื่มสุรา งดฆ่าสัตว์  อธิษฐานรักษาศีลอุโบสถ ฟังเทศน์ทุกวันพระ เป็นต้น จะได้เป็นการสร้างบุญกุศลคุณงามความดี สร้างสมบารมีในเทศกาลเข้าพรรษาอีกด้วย

monk2