***Welcome to the Buddhist Center of Dallas, Dallas, TX, USA ***ยินดีต้อนรับเข้าสู่เวปไซต์วัดพุทธดัลลัส เท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ****

Main menu th-TH

mod_thai25clock

iCagenda - Calendar

No event in the calendar
พฤ
1
2
3
4
5
6
7
8
9
10
11
12
13
14
15
16
17
18
19
20
21
22
23
24
25
26
27
28
29
30
31

Any Westerners Looking to Learn About Buddhism
At Wat Dallas we have a Buddhist Discussion Group for Western Students in English Every Wednesday at 7:00 PM in the Main Building after Chanting and Meditation. If you are interested in Buddhism or are a practicing Buddhist.Please join us on for an open discussion on Dhamma. Please question everything and come with all your questions. If you are needing assistance in becoming a monk and wish to learn more please contact Jack Boling. Kent and Jack Boling will be leading the discussion on Buddhism. If you need personal instruction you can contact Jack Boling at 940-594-7794 or Kent at 214-690-7797

ศีล

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก

 flbar14

ศีล เป็นข้อกำหนดเกี่ยวแก่ความประพฤติของคน เพื่อความอยู่ด้วยกันเป็นปกติสุข และเป็นระเบียบเรียบร้อย อีกอย่างหนึ่งเพื่อผลพิเศษอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ ข้อกำหนดเกี่ยวแก่ความประพฤติดังกล่าวย่อมมีอยู่ในทุกศาสนา ตรงกันก็มี ต่างกันก็มี สุดแต่ศาสดาหรืองค์การศาสนานั้น ๆ จะบัญญัติขึ้น โดยมากมักบัญญัติเป็นข้องดเว้น อันหมายความว่านอกจากข้อที่สั่งให้เว้นนั้นก็ทำได้ เช่น ศีล ๕ ในพระพุทธศาสนาบัญญัติไว้ว่า เว้นจากปลงชีวิตสัตว์ เว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของไม่ได้ให้ เว้นจากการประพฤติผิดในทางกาม เว้นจากพูดเท็จ เว้นจากดื่มน้ำเมาอันเป็นฐานประมาท ศีล ๕ นี้ เป็นหลักเบื้องต้นในพระพุทธศาสนาที่คนทั้งปวงรู้กันมาก เพระเป็นประเพณีนิยมที่รับศีลกันอยู่ในพิธีทางศาสนาเกือบทุกอย่าง คนไทยจะต้องเคยได้เห็นได้ยินพระให้ศีลมาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ยังไม่รู้ความหมาย แต่น่าพิจารณาว่า คนโดยมากมองเห็นความสำคัญของศีลเพียงไร หรือมีความเห็นในศีลอย่างไร เพราะข้อบัญญัติในศีลแตกต่างจากาทางปฏิบัติของคนทั่วไปอยู่มากเกือบทุกข้อ ทั้งที่เห็นว่าไม่ผิด และที่เห็นว่าผิด เช่น ตัวอย่างต่อไปนี้

ศีลข้อที่ ๑ ถ้าปลงชีวิตสัตว์ อันหมายถึงทั้งมนุษย์และดิรัจฉานทุกชนิดทั้งใหญ่ทั้งเล็ก ตลอดจนถึงเหลือบยุง มดดำมดแดง เป็นต้น แต่วันหนึ่ง ๆ คนปลงชีวิตสัตว์เป็นอาหารประจำวันมากมาย เพราะคนโดยมากบริโภคเนื้อสัตว์ คนที่ถือมังสวิรัติมีอยู่บ้างแต่ไม่มากนัก ในการศึกษาใช้สัตว์เป็นเครื่องค้นคว้าทดลองหลายอย่าง ในการปกครองก็ต้องมีการใช้อาวุธเพื่อปราบปราม ผู้รักษากฎหมายก็ต้องมีการลงโทษผู้ทำผิดกฎหมาย ผู้ที่ทำการรบในสงครามก็ต้องใช้อาวุธประหัตประหารกัน ตัวอย่างเหล่านี้ไม่ถือว่าทำผิดกฎหมาย หรือตามทางโลก ถ้าไม่ทำอาจเป็นผิด เช่น ตำรวจ ทหาร หนีประจำการ นอกจากนี้ในปัจจุบันได้พบสัตว์หลายอย่างเป็นพาหะนำเชื้อโรคตลอดถึงได้พบตัวเชื้อโรคด้วยกล้องจุลทรรศน์ และได้พบจุลินทรีย์ต่าง ๆ อีกมากมาย จนแทบว่าจะไม่มีอะไรแม้แต่น้ำที่คนดื่มอยู่จะไม่มีจุลินทรีย์ ถึงจะกรองน้ำเสียก่อนที่จะดื่มก็กรองได้เฉพาะสัตว์ชนิดหยาบ เช่น ตัวน้ำ ไม่อาจกรองจุลินทรีย์ได้ ดื่มน้ำทีหนึ่งจึงทำลายจุลินทรีย์ที่เป็นตัวโรคต่าง ๆ ทุกครั้งไป จุลินทรีย์ต่าง ๆ เหล่านี้จะถือว่าเป็นสัตว์มีชีวิตในศีลข้อหนึ่งหรือไม่ ถ้าถือก็คงไม่มีใครปฏิบัติในศีลข้อนี้ได้ นอกจากนี้ ยังมีผู้ที่เห็นว่า ผู้ที่เว้นการฆ่าสัตว์แล้ว ก็ควรเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย เพราะการบริโภคเนื้อสัตว์ เท่ากับเป็นการสนับสนุนการฆ่า จะต้องเป็นบาปด้วยเหมือนกัน

ศีลข้อที่ ๒ การถือสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ โดยเป็นขโมย ก็ถือว่าเป็นการทำผิด แม้ตามกฎหมาย แต่ก็มียกเว้นสมบัติศัตรูในสงคราม เป็นต้น

ศีลข้อที่ ๓ ความเป็นชู้ด้วยคู่ครองของคนอื่น ถือว่าเป็นการทำผิด ไม่เป็นที่นับถือไว้วางใจของใครโดยทั่วไป ถึงความประพฤติเกี่ยวช้องในทางนี้ด้วยบุคคลที่ควรงดเว้นตามประเพณี หรือด้วยบุคคลที่ต้องห้ามตามกฎหมายตามธรรมที่ประพฤติ ก็ถือว่าเป็นการทำผิดเช่นเดียวกัน และควรจะรวมทั้งการขืนใจด้วยกำลังกาย หรือแม้ด้วยกำลังทรัพย์ให้จำยอม ในผู้ที่มิได้มีคู่ครองก็ตาม หรือมีคู่ครองก็ตาม อาศัยศีลข้อที่ ๓ นี้ที่บัญญัติขึ้นเพื่อให้นับถือวงศ์สกุลของกัน ไม่ละเมิด จึงควรถือเป็นมรรยาท ไม่ละเมิดกันในอีกหลายเรื่อง ดังที่ได้กล่าวไว้ในหนังสือ "สมบัติของผู้ดี" ว่า "อย่าละลาบละล้วงเข้าห้องเรือนแขกก่อนเจ้าของบ้านเขาเชิญ อย่าแลลอดสอดส่ายโดยเพ่งเล็งในห้องเรือนแขก ซึ่งตนไม่ได้นั่งอยู่ อย่าปรารถนาดูสมุดพกผู้อื่น" เป็นต้น ย่อมมีมรรยาทต่าง ๆ ที่ควรถือเนื่องด้วยศีลทุกข้อ เพราะศีลทุกข้อมีวัตถุประสงค์ให้ประพฤติมีมรรรยาท ไม่ละเมิดขอบเขตที่ควรประพฤติ

ศีลข้อที่ ๔ การพูดเท็จก็ถือว่าเป็นการผิดกันทั่วไป แต่ปรากฏว่าคนทั่วไปพูดจริงแก่กันน้อย จึงไว้ใจกันไม่ค่อยได้ ในบางคราวก็น่าจะต้องพูดไม่จริง เช่นผู้ที่พูดไม่จริงเพื่อรักษาตนให้พ้นภัย หมอที่พูดไม่จริงเรื่องโรคแก่คนไข้ เพื่อรักษากำลังใจของคนไข้ไม่ให้เสีย พูดไม่จริงในคราวเช่นนี้ ถึงจะผิดตามคำบัญญัติของศีล ก็ไม่เป็นการผิดวัตถุประสงค์ของศีลไปทีเดียว เพราะศีลข้อนี้ประสงค์ให้รักษาประโยชน์ของกันและกันด้วยความมจริง คือ มุ่งหมายให้ไม่เบียดเบียนกันด้วยวาจา อาศัยความมุ่งหมายดังกล่าว เมื่อพูดทำลายประโยชน์ของกันและกัน เช่น พูดถึงเจตนาร้าย เป็นการทับถม ส่อเสียดนินทาว่าร้าย เพื่อกดเขาให้เลวลงบ้าง ยกตนขึ้นบ้าง ถึงจะเป็นความจริง ก็ถือว่าเป็นการผิด เพราะผิดความมุ่งหมายของศีลที่บัญญัติขึ้น มีกล่าวไว้ว่าพระพุทธเจ้าเองตรัสวาจาที่จริง และมีประโยชน์ ทั้งถูกเหมาะแก่การเวลาและนอกจากที่ทรงบัญญัติศีลให้เว้นจากพูดมุสาแล้ว ยังตรัสให้เว้นจากพูดส่อเสียด พูดคำหยาบ และพูดเพ้อเจ้อ เหลวไหลไร้ประโยชน์อีกด้วย

ศีลข้อที่ ๕ เว้นดื่มน้ำเมา แต่น้ำมาก็ยังไม่ลด โรงต้มกลั่นที่ได้รับอนุญาตต้องทำงานไม่หยุดหย่อน ร้านเหล้ามีคนเข้าสนับสนุนทั้งกลางวันกลางคืน งานรับรองรื่นเริงทั้งหลายก็ต้องมีสุรา ไม่เช่นนั้นก็กร่อยไป พวกคอเหล้าจะไม่ชอบ สุรากลายเป็นสิ่งทำรายได้ ให้ปีละไม่น้อยทางปฏิบัติของคน ทั้งที่ถือว่าไม่ผิด ทั้งที่ถือว่าผิด ดำเนินไปในทางแย้งกลับหลักของศีลดังเช่นที่กล่าวมานี้ จึงแสดงว่า คนยิ่งไม่เข้าใจในศีล ไม่เห็นศีลเป็นข้อสำคัญ ไม่เห็นศีลว่ามีความหมายแก่การครองตนอยู่ในโลก เมื่อเป็นเช่นนี้จะควรทำหรือไม่ทำอย่างไร ตามวิธีต่าง ๆ ที่จะกล่าวต่อไปนี้

๑. แก้หลักของศีลให้เหมาะแก่ภาวะที่ปฏิบัติทั่วไปจริง ๆ ของคน เช่น ศีลข้อที่ ๑ แก้ให้ทำได้เหมือนอย่างที่กฎหมายไม่ถือว่าผิด แต่ถ้าผิดกฎหมายก็ทำไม่ได้ หรือถ้าเป็นการทำอย่างทรมานทรกรรมสัตว์ก็ไม่ควรทำ ศีลข้อที่ ๔ ให้ทำได้ในคราวจำเป็น เพื่อรักษาตน หรือเพื่อรักษาผู้อื่น ศีลข้อที่ ๕ ให้ทำได้เป็นบางครั้งบางคราวและโดยไม่เกินไป

๒. ไม่แก้หลักของศีล และไม่สนใจในศีลด้วย ผู้ที่ไม่สนใจในศีล ถ้าถือปฏิบัติตามกฎหมายของบ้านเมืองอยู่ก็ใช้ได้ เพราะกฎหมายเป็นศีลอย่างหนึ่งที่บัญญัติขึ้น เพื่อความสงบสุขของประชาชน แต่ยังขาดหลักของใจที่เป็นหลักของศีล ซึ่งจะกล่าวต่อไปข้างท้าย

๓. ไม่แก้หลักของศีล มีความสนใจ รับปฏิบัติบางคราวหรือบางประการ พุทธศาสนิกชนโดยมากอยู่ในประเภทนี้ คือ ไม่แตะต้องแก้หลักอะไรของศีล มีความสนใจที่จะรับนับถือศีลบางคราว หรือบางประการ เช่น บางคนถือไม่ดื่มสุราตลอดไตรมาเข้าพรรษา ออกพรรษาแล้วดื่มต่อไป เมื่อเป็นชาวประมงก็ไม่ถือศีลข้อที่หนึ่งทีเกียวแก่สัตว์ในอาชีพ แต่อาจเว้นสัตว์จำพวกอื่น เป็นนักเรียนแพทย์ก็ไม่ถือเกี่ยวแก่สัตว์ที่จะทำการค้นคว้าทดอลง เป็นต้น คือ ถือในคราวที่มีศรัทธาจะถือ และในประการที่ไม่ขัดการศึกษาอาชีพการงานหรือหน้าที่ของตน

๔. ไม่แก้หลักของศีล และถือปฏิบัติโดยเคร่งครัด บุคคลจำพวกนี้มีน้อย และอาจจะมีความข้องใจเกี่ยวแก่เชื้อโรคจุลินทรีย์ต่าง ๆ ส่วนพกที่ไม่ถือโดยเคร่งครัดอาจจะมีความข้องใจเพียงเพื่อต้องการทราบ หรือเพื่อคัดค้านศีลว่าขัดข้องทำไม่ได้ เชื้อโรคจุลินทรีย์ต่าง ๆ จะเป็นสัตว์มีชีวิตที่ต้องห้ามหรือไม่ พิจารณาดูในพุทธประวัติ พระพุทธเจ้าเมื่อประชวรในบางคราวได้ทรงอนุญาให้หมอชีวกโกมารภัจทายา และถวายโอสถเพื่อเสวย พระภิกษุก็ทายาฉันยาได้เพื่อเยียวยาอาพาธต่าง ๆ เป็นทราบได้ว่าไม่ถือไปถึงเชื้อโรคจุลินทรีย์เช่นนั้น ถ้าถือไปถึงเช่นนั้นก็เป็นอันว่ากินดื่มอะไรไม่ได้ ตลอดถึงหายใจก็จะไม่ได้ ศีลข้อนี้ก็เลยไม่มีความหมาย ไม่มีใครจะเข้าใจจะปฏิบัติได้ ศีลเป็นข้อที่คนสามัญทั่วไปไปฏิบัติได้ทุกข้อ โดยอาการปกติธรรมดาสามัญนี้แหละ ไม่ใช่ลึกซึ้งถึงกับจะต้องส่องกล้องปฏิบัติกัน ซี่งน่าจะใช้ในทางแพทย์เท่านั้น

ส่วนเรื่องการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นอาหาร ในพระพุทธศาสนาเองก็มีแบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งถือว่าบริโภคเนื้อสัตว์เป็นความผิดกล้ายการฆ่าสัตว์ทีเดียว เพราะเป็นเหตุให้ต้องมีการฆ่าสัตว์ ถ้าไม่มีการบริโภคเนื้อสัตว์กันทั้งหมด ก็จะไม่มีใครฆ่าสัตว์เพื่อใช้เนื้อเป็นอาหาร การบริโภคเนื้อสัตว์จึงเป็นตัวเหตุให้มีการฆ่าสัตว์เพื่อเป็นอาหาร จึงเป็นบาป พระพุทธศาสนาสายอาจริยวาทมีแสดงให้ถือมังสวิรัติ ด้วยถือว่าการบริโภคเนื้อสัตว์เป็นบาปดังกล่าว ส่วนสายเถรวาทในวินัยอนุญาตให้บริโภคเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์โดยส่วน ๓ คือ ไม่ได้เห็น ไม่ได้ฟัง ไม่ได้รังเกียจ สงสัยว่าเขาฆ่าเพื่อตน แต่เขาฆ่าเพื่อใช้เนื้อจำหน่ายโดยทั่วไป มิได้เจาะจงว่าเพื่อจะปรุงอาหารเลี้ยงตน (ยังมีบัญญัติห้ามไว้ประการอื่นอีก เช่น ห้ามภิกษุฉันเนื้อดิบและเนื้อที่ต้องห้าม ๑๐ ชนิด มีเนื้อเสือ เนื้อข้าง เป็นต้น) เพราะภิกษุควรทำตนให้เขาเลี้ยงง่าย เมื่อเขาถวายด้วยอาหารที่ไม่มีเนื้อสัตว์ฉันได้ เมื่อเขาถวายด้วยอาหารที่มีเนื้อสัตว์ที่บริสุทธิ์ดังกล่าว และไม่ต้องห้ามก็ฉันได้ แปลว่าสุดแต่วิสัยเขาจัดถวาย จะมังสวิรัติก็ได้ มังสะที่บริสุทธิ์ก็ได้ และถือว่าไม่เป็นบาป เพราะมีจิตประกอบด้วยพรหมวิหารธรรมในสัตว์ทั้งปวง จิตใจมิได้คิดแลบออกไปให้เขาฆ่า นอกจากนี้ฝ่ายนี้ยังแย้งฝ่ายที่ถือว่าเป็นบาปว่า ถ้าถือว่าการบริโภคเนื้อเป็นบาป ก็ควรเว้นเครื่องใช้ที่ทำด้วยหนัง กระดูก เขา เป็นต้น ของสัตว์เสียทุกอย่าง เพราะก็ควรจะถือว่าเป็นบาปด้วยเหมือนกัน ทั้งสองฝ่ายนี้ยงถือยันกัน และเถียงกัน แต่ที่ไม่เถียงกันก็มี เพราะเห็นว่าใครมีศรัทธาจะถืออย่างไรก็ถือไป ไม่ควรจะข่มกัน ซึ่งเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง ไม่เกิดประโยชน์อะไร

ถ้ามีปัญหาว่า พระพุทธเจ้าทรงเห็นประโยชน์อย่างไร จึงทรงบัญญัติศีลให้เว้นเสียทั้งหมด โดยไม่มีข้อผ่อนเช่นนั้น ซึ่งน่าจะมีรับปฏิบัติได้จริง ๆ น้อย ข้อนี้ไม่มีใครจะทราบพระญาณของพระพุทธเจ้าได้ แต่อาจพิจารณาเห็นเหตุผลได้จากหลักธรรมต่าง ๆ คือ ทรงสอนให้พิจารณาเทียบเคียงระหว่าตนและผู้อื่นว่า "สัตว์ทั้งปวงหวาดสะดุ้งต่ออาชญา กลัวต่อความตาย ชีวิตเป็นที่รักของสัตว์ทั้งปวง (เหมือนอย่างตนเอง) ทำตนให้เป็นอุปมาดังนี้ ก็ไม่พึงฆ่าเอง ไม่พึงใช้ให้ฆ่า " ตามหลักธรรมนี้เท่ากับทรงสอนให้นำใจเขามาใส่ใจเรา หรือนำใจเราไปใส่ใจเขา จะเห็นว่าต่างรักชีวิตเหมือนกัน กลัวตายเหมือนกัน ฉะนั้นจึงทรงบัญญัติศีลข้อที่ ๑ ด้วยหลักความยุติธรรมโดยแท้ ศีลข้อที่ ๒ ก็เพื่อให้ต่างนับถือในสิทธิแห่งทรัพย์สินของกันและกัน ศีลข้อที่ ๓ ก็เพื่อให้นับถือในวงศ์สกุลของกัน ศีลข้อที่ ๔ ก็เพื่อให้รักษาประโยชน์ของกันด้วยความจริง ศีลข้อที่ ๕ ก็เพื่อความไม่ประมาทขาดสติสัมปชัญญะ เพราะเมื่อตนก็รักและหวงแหนในทรัพย์สิน เชื้อสายวงศ์สกุล ความสัตย์จริง ก็ไม่ควรไปละเมิดเบียดเบียนผู้อื่น ทุกข้อจึงอาศัยหลักยุติธรรมที่บริสุทธิ์สิ้นเชิง และศีลนี้แสดงว่าพระพุทธศาสนับถือในชีวิต และสิทธิทรัพย์สินของบุคคลทั้งปวง เป็นต้น ซึ่งเป็นโลกสัจจะ สมมติสัจจะ ถ้าจะทรงบัญญัติศีลผ่อนผันลมาหาควาพอใจของคน ก็จะขาดความยุติธรรมที่สมบูรณ์ และจะขาดพระกรุณาแก่สัตว์ที่ถูกอนุญาตให้ฆ่าได้ มิใช่วิสัยของพระพุทธเจ้าผู้มีพระกรุณาเต็มเปี่ยมในสรรพสัตว์ เหตุผลอีกอย่างหนึ่ง คือ ที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า "เพื่อผลพิเศษอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ" หมายความว่า ผลที่มุ่งหมายนั้น คือ เพื่อบริสุทธิ์ผ่องแผ้วจากเครื่องเศร้าหมองทั้งหมด ซึ่งมีศีลเป็นบันไดขั้นแรก ศีลที่สมบูรณ์ดังกล่าวเท่านันแม้เพียง ๕ ข้อ อาจะเป็นบันไดนำไปสู่ขั้นที่สูดขึ้น เพื่อบรรลุถึงผลดังกล่าวได้

ปัญหาที่สำคัญมากเกี่ยวแก่ศีล น่าจะอยู่ที่ประเด็นว่าคนเราสนใจปฏิบัติในศีลหรือไม่สนใจปฏิบัติ เนื่องด้วยเหตุอะไร ดังจะเหตุต่าง ๆ มากล่าวบางประการ

๑. ถ้าเพราะศีลบัญญัติไว้ตึงเกินไป เช่น ให้เว้นการปลงชีวิตสัตว์ทุกชนิด สมมุติว่าจะมีบัญญัติผ่อนลงมาให้ทำได้บางอย่างเช่นที่กล่าวมาข้างต้น จะทำให้คนปฏิบัติในศีลมากขึ้นหรือไม่ เห็นว่าคงจะรับรองไม่ได้ว่า จะทำให้คนสนใจปฏิบัติในศีลมากขึ้น เพราะตามที่ปรากฏอยู่โดยมาก เฉพาะศีลในประการที่ทางโลกทั่วไปหรือทางกฎหมายก็รับรองว่าผิดทุกสิกขาบทของศีไม่ว่าข้อที่ ๑ หรือข้ออื่น คนก็คงประพฤติล่งละเมิดกันอยู่มาก ผลที่ปรากฏนี้จึงมิใช่เพราะเหตุที่ว่าศีลตึงไป คนทุกคนมักมีปกติทำอะไรผ่อนลงมาหาความสุขสะดวกของตนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นคนชาติไหน ศาสนาอะไร ทุกชาติก็มีกฎหมายตราขึ้นไว้ใช้ ทุกศาสนาก็มีศีลที่บัญญัติขึ้นผ่อนลงมามากก็มี แต่ก็คงมีไม่น้อยหลบเลี่ยงไม่ปฏิบัติ หรือล่วงละเมิด เหตุสำคัญจึงอยู่ที่ตัวบุคคลเองซึ่งแต่ละคนมีความสามารถถนัดในการที่จะหลีกเลี่ยงแก้ไข เพื่อที่ตนเองจะไปได้โดยสะดวกอยู่แล้ว

๒. ถ้าเพราะตัวบุคคลเองดังกล่า อะไรในตัวบุคคลที่ทำให้ละเมิดศีล แม้ในประการที่โลกทั่วไปหรือกฎหมายก็ถือว่าผิด เหตุในตัวบุคคลตามปัญหานี้ ก็ต้องกล่าวถึงความโลภ โกรธ หลง ซึ่งเกิดเป็นกิเเลสขึ้นในจิตใจ ทำให้ไม่มีหิริ (ความละอาย ความรังเกียจความชั่ว) ไม่มีโอตตัปปะ (ความเกรงกลัวต่อความชั่ว) ฉะนั้น ถ้าจะแก้ก็ไม่ต้องไปแก้ที่หลักศีลของท่าน แต่แก้ที่จิตหมายถึงแก้กิเลสดังกล่าว โดยปฏิบัติลดกิเลสลงไป ไม่ปฏิบัติในทางเพิ่มกิเลส จนจิตใจมีหิริโอตตัปปะขึ้น ก็จะปฏิบัติในศีลได้ดีขึ้น การปฏิบัติในศีลได้ดีขึ้นนี้ไม่ได้หมายถึงจะต้องงดเว้นให้ครบถ้วน เว้นในประกานที่ทางโลกทั่วไป หรือกฎหมายถือว่าผิดก็ใช้ได้

๓. ถ้าเพราะความจำเป็น เช่น ต้องละเมิดศีลข้อที่๑ เพื่อป้องกันทรัพย์ชีวิต ตลอดถึงชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ ดังเช่นต่อสู้ปราบปรามโจรผู้ร้าย ข้าศึกศัตรู ละเมิดศีลข้อที่ ๒ เพื่อยังชีพ เพราะอดอยากแร้นแค้นจริง ๆ ศีลข้อที่ ๓ ดูไม่มีเหตุจำเป็นจะต้องละเมิด ไม่ให้ต้องตาย ละเมิดศีลข้อที่ ๔ เพื่อรักษาตนให้สวัสดี ละเมิดศีลข้อที่ ๕ เพื่อเป็นยา หรือกระสายยา หรือแม้เพื่อสนุกสนานเป็นครั้งคราว เมาแล้วก็กลับไปนอน ไม่ก่อเรื่องราวเหตุต่าง ๆ ที่กล่าวมาข้างต้น มีหลายข้อที่นับว่าเป็นความจำเป็น เช่น ถ้ามีอาชีพเป็นประมง เป็นนักเรียนแพทย์ทราบมาว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงสั่งฝากพระพุทธชินสีห์ไว้ว่า ให้พระอุปัชฌาย์อาจารย์ในวัดบวรนิเวศวิหารสอนสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกผู้จะลาสิกขาออกไปครองเรือน ให้รู้จักศีลจำเป็นดังเช่นที่กล่าวมา เพื่อที่จะได้ผ่อนปฏิบัติครองชีวิตให้สวัสดีตามทางโลก ถ้าใครลองตั้งปัญหาถามตนเองก่อนว่า จำเป็นไหมที่จะฆ่า ที่จะลัก เป็นต้น ก็จะรู้สึกได้ด้วยตนเองว่ามีน้อยครั้งที่จำเป็น ฉะนั้น แม้เพียงตั้งใจว่า จำเป็นจึงจะล่วงละเมิด ไม่จำเป็นก็ไม่ละเมิดถือศีลจำเป็นไว้เพียงเท่านี้ ก็จะเห็นผลด้วยตนเองว่าจะรักษาศีลทุกข้อไว้ได้มากโดยไม่ยากลำบาก และไม่เสียประโยชน์อะไรในทางโลกทุกอย่าง

๔. ถ้าเพราะขาดธรรมสนับสนุนเป็นคู่กัน การขาดธรรมที่พึงปฏิบัติให้เป็นคู่กันกับศีลแต่ละข้อ ก็เป็นเหตุอย่างหนึ่งที่ทำให้จำเป็นต้องละเมิดศีลได้เหมือนกัน คือ เมตตาความรักใคร่ปราราถนาให้เป็นสุข พึงอบรมให้มีประจำใจเป็นธรรมคู่กับศีลข้อที่ ๑ สัมมาอาชีวะ ความประกอบอาชีพในทางที่ชอบ เป็นธรรมที่ควรปฏิบัติให้เป็นคู่กับศีลข้อที่ ๒ ความสันโดษ ยินดีเฉพาะด้วยคู่ครองของตน เป็นธรรมที่ควรปฏิบัติให้เป็นคู่กับศีลข้อที่ ๓ ความสัตย์จริงเป็นธรรมที่ควรรักษาให้เป็นคู่กับศีลข้อที่ ๔ ความมีสติรอบคอบไม่ประมาท เป็นธรรมที่ควรปฏิบัติให้เป็นคู่กับศีลข้อที่ ๕ ยกขึ้นอธิบายเพียงบางข้อ เช่น ข้อที่ ๑ เมตตา ถ้ามีอยู่ในสัตว์ใด ๆ แล้ว ก็ห้ามใจเองไมให้คิดเบียดเบียน ไม่ต้องกล่าวถึงเมตตาของมารดาบิดาที่มีในบุตรธิดา แม้ที่มีในสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข แมว ก็ทำให้เลี้ยงถนอมรักษาอย่างยิ่งอยู่แล้ว ถ้าขาดเมตตาเสียแล้ว มีโทสะแทนที่ ก็จะทำลายได้ทีเดียว ข้อที่ ๒ ประกอบอาชีพ ถ้าเกียจคร้านประกอบอาชีพ หรือประกอบอาชีพในทางที่ผิด ก็ไม่อาจรักษาศีล ข้อที่ ๒ ได้ เพราะทุกคนจำเป็นต้องบริโภคอยู่ทุกวัน ต้องแสวงหามาบริโภคให้ได้ จึงจำต้องมีอาชีพและจะต้องเป็นอาชีพที่ชอบ

๕. ถ้าเพราะขาดผู้นำที่มีศีล ข้อนี้ มีพระพุทธภาษิตในชาดกแแสดงไว้ แปลความว่า "เมื่อโคทั้งหลายข้ามไปอยู่ ถ้าโคตัวนำฝูงไปคด โคทั้งปวงย่อมไปคด เมื่อโคนำไปคดอยู่ ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับความรับรองว่าเป็นหัวหน้า ถ้าผู้นั้นประพฤติอธรรม หมู่ชนนอกนี้ย่อมประพฤติตาม ทั่วทั้งรัฐพากันอยู่เป็นทุกข์ ถ้าผู้ปกครองไม่ตั้งอยู่ในธรรม เมื่อโคทั้งหลายข้ามไปอยู่ ถ้าโคตัวนำฝูงไปตรง โคทั้งปวงย่อมไปตรง เมื่อโคนำไปตรงอยู่ ในหมู่มนุษย์ก็เหมือนกัน ผู้ใดได้รับความรับรองว่าเป็นหัวหน้า ถ้าผู้นั้นประพฤติธรรมหมู่ชนนอกนี้ย่อมประพฤติตาม ทั้วทั้งรัฐพากันอยู่เป็นสุข ถ้าผู้ปกครองตั้งอยู่ในธรรม" พระพุทธภาษิตนี้มีความแจ่มแจ้งอยู่แล้วว่า ผู้นำในหมู่คนมีส่วนสำคัญในความประพฤติของคนทั้งปวง เพราะจะมีการทำตามอย่าง

เหตุต่าง ๆ ดังเช่นที่กล่าวมา น่าจะเป็นเหตุสำคัญแต่ละข้อเกี่ยวแก่ศีล กล่าวโดยสรุป ศีลจะมีหรือไม่มีในคนแต่ละคนตลอดถึงในหมู่คน ย่อมเกี่ยวแก่ว่าศีลเป็นข้อบัญญัติที่อำนวยให้เกิดความปกติสุขตามภูมิชั้นของตนซึ่งตนพอจะรับปฏิบัติได้หรือไม่

ในข้อที่กล่าวนี้ บางคนได้แสดงความคิดเห็นว่า ศีลนั้นเป็นแม่บทใหญ่ แต่ละบุคคลจะต้องนำแม่บทนี้มากำหนดให้เหมาะกับภาวะของตน แต่การกำหนดนี้จะถูกต้องกับวัตถุประสงค์ของศีล ต่ออเมื่อกระทำโดยปราศจากอคติหรือความลำเอียงเข้ากับตัวเอง เพราะวัตถุประสงค์ของศีล คือไม่เบียดเบียนกันและเป็นบันไดขั้นแรกของสมาธิและปัญญา เมื่อไม่ได้ถือตามตัวอักษร แต่กำหนดถือตามวัตถุประสงค์ดังนี้ การถือปฏิบัติจะออกมาในลักษณะต่าง ๆ กัน ตามควรแก่ภาวะที่ต่าง ๆ กันของแต่ละบุคคล แต่ละอาชีพ เป็นต้น เช่น ของชาวบ้าน ซึ่งต้องการอยู่เย็นเป็นสุขร่วมกันในครอบครัวในบ้านในเมือง ก็ออกมาในลักษณะหนึ่ง ของบรรพชิตซึ่งต้องการภูมิธรรมสูง ก็ออกมาในลักษณะหนึ่งซึ่งต่างก็จะบรรลุผลที่มุ่งหมายแห่งศีลของตนได้ นอกจานี้ศีลยังเป็นเหตุสำคัญในการนำผลรวมให้เพิ่มพูน เป็นพลังนำความเจริญทางเศรษฐกิจและความสุขของส่วนรวม ถ้าปราศจากศีลเสีย ผลงานของแต่ละบุคคล จะถูกตัดทอนทำลายกันเองลงไป ถึงจะมีใครได้ผลสูง ซึ่งได้จากการทำลายผลของผู้อื่นลงไปเป็นอันมาก ก็ไม่บังเกิดผลลัพธ์ที่เป็นของส่วนรวม ผลลัพธ์ที่เป็นส่วนรวมยิ่งลดน้อยลง ความเจริญและความสุขของส่วนรวมก็เกิดได้ยาก แม้ตามความคิดเห็นนี้จะเห็นได้ว่ายังมีคนที่รู้จักที่จะรับศีลมาปฏิบัติให้เหมาะแก่ภาวะของตน ทั้งเห็นความสำคัญของศีลว่าทำคนและหมู่คนให้เจริญ

กล่าวได้ว่าในเมืองไทยคนทั่วไปย่อมทราบอยู่ว่าตนจะรับปฏิบัติในศีลได้โดยประการไร และศีล ๕ ไม่ได้เป็นข้อขัดขวางความเจริญของบุคคลหรือบ้านเมืองแต่ประการใด ข้อที่ควรวิตกมิได้อยู่ที่ว่าคนพากันเคร่งครัดในศีลมากไป แต่อยู่ที่คนพากันขาดหย่อนในศีลมากไปต่างหก จนถึงว่า การที่ควรละเว้นอันเป็นความผิดที่โลกทั่วไปหรือกฎหมายก็ว่าผิด คนก็ยังไม่ละเว้น จุดสำคัญที่จะต้องแก้จึงอยู่ที่ตัวบุคคล และเหตุแวดล้อมทั้งหลายดังที่ได้กล่าวมาโดยลำดับแล้ว ฉะนั้น แต่ละคนปฏิบัติในทางลดกิเลส คือ ความโลภ โกรธ หลง มีหิริโอตตัปปะประจำจิตใจพอสมควร มีเครื่องแวดล้อมให้ความสุขสะดวกพอสมควร เช่น โจรผู้ร้ายสงบราบคาบ การอาชีพคล่องสะดวก หาทรัพย์พอที่จะดำรงชีวิตตนเองและครอบครัว เป็นต้น เป็นเหตุให้ไม่เกิดความจำเป็นที่จะประพฤติผิดศีล ทั้งสนใจที่จะปฏิบัติธรรมที่เป็นคู่กันกับศีล เช่น มีเมตตาอารีต่อกัน ขยันขันแข็งในสัมมาอาชีพ เป็นต้น และบุคคลที่เป็นผู้นำ คือ ผู้ปฏิบัติในทางบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชนให้ทั่วถึง ถ้าทุกฝ่ายร่วมกันปฏิบัติดังนี้ ศีลธรรมจะดีขึ้นได้แน่นอนเพราะพื้นจิตใจของแต่ละคนย่อมมีความอยากเป็นคนดีอยู่ด้วยกัน และก็ย่อมเห็นประโยชน์ของศีลธรรม แต่ถ้ามีปัญหาเฉพาะหน้า คือ การครองชีวิตคับแค้นขัดข้องมีอันตราย ก็เป็นความจำเป็นที่จะต้องแก้ปัญหาเฉพาะหน้าก่อน แม้ในพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าก็ได้ตรัสสอนในประโยชน์ปัจจุบันก่อน คือสอนให้ขยันหมั่นเพียรประกอบการงานเพื่อให้ได้ทรัพย์มาดำรงชีวิต เป็นต้น แล้วจึงทรงสอนให้ปฏิบัติเพื่อประโยชน์ภายหน้าควบคู่กันไป คือ ให้มีศรัทธา มีศีล เป็นต้น

ในคราวที่พากันมองเห็นความเสื่อมต่าง ๆ ที่เกิดจากความประพฤติเสื่อมทางศีลธรรมของคนทั้งเด็กทั้งผู้ใหญ่พากันเรียกร้องหาศีลธรรมกันเกรียวกราวดังเช่นในปัจจุบัน แต่ก็ควรคำนึงถึงเหตุต่าง ๆ เช่นที่กล่าวมาและช่วยกันแก้ให้ถูกต้นเหตุ ลำพังพระสงฆ์ทำได้เพียงเป็นผู้ชี้ทาง และใคร ๆ เฉพาะฝ่านใดฝ่ายหนึ่งไม่อาจแก้ได้ ต้องร่วมมือกันแก้ทุกฝ่ายตามหน้าที่ของตน โดยปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนโดยสุจริต โดยเฉพาะแต่คนลตรวจดูเข้ามาที่ความประพฤติของตนเอง ตั้งใจเว้นความประพฤติทุจริตต่าง ๆ ตามหลักของศีล วิธีปฎิบัติตนตามศีลก็ไม่เป็นการยาก คือ ปฏิบัติโดยรับศีล (สมาทาน) จากพระหรือตั้งใจปฏิบัติตามด้วยตนเอง (สมาทานด้วยตนเอง) ถึงจะไม่มีการรับจากพระก็ได้ ข้อสำคัญอยู่ที่ตั้งใจงดเว้นไว้ว่าจะเว้น คือ ไม่ทำในข้อนั้น ๆ แม้จะยังเว้นไม่ได้ตามหลักศีลที่สมบูรณ์ จะตั้งใจเว้นในข้อที่แม้ทางโลกหรือทางกฎหมายถือว่าผิด ไม่ชอบ ไม่ควร ตามที่ทราบกันอยู่นี่แหละ ก็ยังดีกว่าไม่เว้นเสียบ้างเลย

ความบัญญัติศีลที่สมบูรณ์ไว้ มิใช่หมายความว่า จะต้องปฏิบัติให้สมบูรณ์ในศีลขึ้นทันที ซึ่งไม่มีใครจะทำได้เช่นนั้น ข้อที่ควรทำ คือ ปฏิบัติโดยลำดับ ตั้งแต่ชั้นเล็กน้อยไปหามาก จึงใช้คำว่า "ข้าพเจ้าสมาทาน (รับถือ) สิกขาบท (ทางศึกษา) ว่าจะเว้นข้อนั้น ๆ " คือ รับศึกษาไปในทางของศีล ซึ่งมีความหมายอยู่ในตัวว่า ยังไม่สมบูรณ์นั่นเอง เหมือนอย่างศึกษาในวิชาใดก็หมายความว่ายังไม่รู้ในวิชานั้น ถ้ารู้สมบูรณ์แล้วก็ไม่ต้องศึกษา ผู้ที่ยังศึกษาไม่มีความผิดในข้อที่ยังศึกษาไปไม่ถึง

ธรรมเนียมที่ใช้ทั่วไป พระมิได้เที่ยวให้ศีลใคร ๆ โดยลำพัง เมื่อมีผู้ขอศีลพระจึงจะให้ศีล แสดงว่าผู้ขอพร้อมที่จะรับรักษาศีล และจะรักษาไว้กี่ข้อชั่วคราวหรือนานเท่าไรก็สุดแต่เจตนาของผู้รับ ทางศาสนาได้มีทางปฏิบัติผ่อนปรนสะดวกมากถึงเพียงนี้ ก็น่าจะเพียงพอทีเดียว ไม่ทำให้ใครต้องเดือดร้อนเสียหายเพราะต้องมาถือศีล เป็นเรื่องของศรัทธาของแต่ละคน

แรงอย่างหนึ่ง ที่จะนำให้เกิดความสนใจปฏิบัติตนอยู่ในศีล ก็คือ ความที่มองเห็นอานิสงส์ คือ ผลดีของศีล ดังที่พระได้บอกอยู่ทุกครั้งที่ให้ศีลว่า "ถึงคติที่ดีก็ด้วยศีล โภคทรัพย์ถึงพร้อมก็ดวยศีล ถึงความดับทุกข์ร้อนใจก็ด้วยศีล เพราะฉะนั้น ควรชำระศีลให้บริสุทธิ์

flbar14